- หน้าแรก
- คุณภาพอากาศในอาคาร
- “อากาศที่ไม่ดี” เป็นอย่างไร
- 24 Dec 2018
“อากาศที่ไม่ดี” เป็นอย่างไร
ตามหลักแล้วก็น่าจะตรงกันข้ามกับภาวะของอากาศที่ดี ที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ อย่างไรก็ตาม เราควรจะมาทำความเข้าใจเรื่องของมลพิษในอากาศ และสภาพแวดล้อมในอากาศที่ไม่ดี นั้นมีอะไรบ้าง มีอันตรายขนาดไหน มันมาจากไหน และจะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไรปกติแล้ว อากาศภายในอาคารก็มักจะได้รับผลกระทบมาจากสภาวะของอากาศภายนอกอาคารได้โดยตรง ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบปรับอากาศแบบปิดแล้วก็ตาม เพราะมีการเคลื่อนที่ของอากาศและมลพิษจากภายนอกอาคารเข้าสู่ภายในตัวอาคารเองได้ ไม่ว่าจะผ่านรอยรั่วต่างๆตามอาคาร การเปิดปิดประตู ดังนั้น หากสภาพภายนอกของอาคารเป็นบริเวณที่มีจราจรหนาแน่น มีการก่อสร้าง มีการเผาไหม้ หรือมีกองขยะ ทั้งขยะอาหารทั่วไป หรือขยะเคมี สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนสามารถส่งผลให้อากาศภายในอาคารใกล้เคียงมีมลพิษเช่นเดียวกันได้ในอัตราที่สูงกว่าอาคารโดยทั่วไปได้
แต่เราทราบหรือไม่ว่า มลพิษสามารถพบภายในอาคารได้จากแหล่งกำเนิดมลพิษภายในอาคารเอง เช่น สารระเหยจากสีทาภายใน, สารระเหยจากกาวที่ใช้ผลิตประกอบเฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด หรือสารเคลือบต่างๆ, สารระเหยจากน้ำยาทำความสะอาดที่เป็นเคมี ยาฆ่าแมลง, และสารเคมีผงจากเครื่องใช้สำนักงานอย่าง เครื่องปริ้นเตอร์ และ เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น
ก่อนที่เราจะมารู้จักสารปนเปื้อนและสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อสุขภาพที่ดีนั้น เรามาลองทำ Check list ของสภาพอากาศในบริเวณที่ผู้อ่านใช้เวลาอยู่มากที่สุดกัน เพื่อจะได้ประเมินคุณภาพของอากาศในบริเวณนั้นว่าดีพอหรือไม่ โดยดูว่า ท่านผู้อ่านเคยมีอาการเช่นนี้บ้างหรือไม่ เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านหรืออาคาร
- มีอาการแสบตา คันตา
- คันตามผิวหนัง หน้า แขนหรือลำตัว
- มีอาการเหมือนภูมิแพ้ คือ ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก
- จมูกอักเสบ คออักเสบ
- หายใจลำบาก หายใจไม่ทั่วท้อง
- คอแห้ง
- ช่วงบ่ายๆจะเริ่มรู้สึกปวดศีรษะ หรือ เวียนศรีษะ
- เมื่อยล้าตามลำตัว
- รู้สึกเหนื่อยง่าย พักผ่อนแล้วก็ยังเหนื่อยง่ายอยู่
- ไม่สบายเป็นหวัดบ่อย และเมื่อเป็นแล้วจะใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหาย
หากคุณมีอาการดังกล่าวอยู่โดยหาสาเหตุไม่ได้ คุณอาจจะกำลังเป็นอาการป่วยที่เรียกว่า Sick Building Syndrome หรือ อาการป่วยจากอาคาร ซึ่งปัจจุบันพบว่า 1 ใน 3 ของคนทำงานป่วยด้วยโรคนี้ หรือประมาณ 30% และหากเป็นออฟฟิสที่แออัด หรือสุขลักษณะที่ไม่ดี อัตราคนป่วยด้วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 2 คน หรือที่ 50% เลยทีเดียว
ทีนี้เรามาค่อยๆทำความรู้จักมลพิษแต่ละอย่างกันทีละส่วน ดังจะเล่าต่อไปนี้
มลพิษในอากาศภายในอาคาร สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท
1. มลพิษจากชีวภาพ
มลพิษประเภทนี้คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ละอองเกสร เศษขนสัตว์ เศษมูลสัตว์หรือแมลงตัวเล็กๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของอากาศในอาคาร และที่จะก่อให้เกิดโรคได้ ทั้งโรคติดต่อ โรคทางเดินหายใจ หรือ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น บริเวณที่จะมีมลพิษประเภทนี้ไม่ถูกจำกัดแค่ตามสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยอยู่เป็นจำนวนมากในสภาวะแออัดแต่ ภายในบ้านและอาคารสำนักงานต่างๆ ก็ล้วนแต่สามารถมีมลพิษเช่นนี้ได้เนื่องจากมลพิษชีวภาพเป็นสิ่งมีชีวิต และเกิดจากสิ่งมีชีวิต เราจึงพบได้ตามบริเวณประกอบอาหาร และ พื้นที่ที่มีความเปียกชื้น ตลอดจนเครื่องตกแต่งบ้านประเภท ผ้าและพรม จะเป็นที่เก็บกักฝุ่นและมลพิษชีวภาพได้มาก ดังนั้น
บ้าน ตามห้องครัวและห้องน้ำ ห้องนอน รวมทั้งที่ทำงาน ก็จะเป็นสถานที่ที่ตรวจพบมลพิษเหล่านี้ได้
ดังนั้น แต่หากในที่ทำงานที่การหมุนเวียนของอากาศเป็นระบบปิด โดยหมุนเวียนอากาศวนไปมา ทำให้เมื่อมีผู้ป่วยแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ห้องสักคนหนึ่ง หรือ สถานที่ในอาคารนั้น เชื้อโรคเหล่านั้นก็จะหมุนเวียนอยู่ในอากาศ ถ้าหากมีปัจจัยเอื้อต่อการเจริญเติบโตต่อ เช่น มีความชื้น มีเชื้อรา หรือ มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม และเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม ก็ยิ่งจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่คนป่วยต่อเนื่องกันอยู่ไม่ขาดสาย
ในกรณีของมลพิษจากเศษมูลสัตว์นั้น เรามักจะพบได้ในห้องนอน ที่บริเวณเตียงนอน อันมีเศษผิวหนังที่ตายแล้วจากตัวเรา หลุดอยู่ตามเครื่องนอนต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของเหล่าไรฝุ่น ทำให้มีไรฝุ่นอาศัยอยู่ตามที่นอน เศษปฏิกูลจากไรฝุ่นเหล่านั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอาการภูมิแพ้ เป็นต้น
เกณฑ์ของมาตรฐานอากาศในอาคาร อย่างที่ประเทศสิงคโปร์ กำหนดให้ปริมาณเชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรเกิน 500 CFU* (Colonial forming unit)/ ลูกบาศก์เมตร และปริมาณเชื้อราไม่ควรเกิน 500 CFU/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสำหรับคนแข็งแรงทั่วไป อาจจะทนปริมาณเชื้อต่างๆเหล่านี้ได้จนถึงเกณฑ์ แต่หากเป็นคนที่ไม่ค่อยแข็งแรง เด็ก หรือคนชรา รวมทั้งผู้ป่วย ปริมาณที่น้อยกว่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้แล้ว
(หมายเหตุ : * CFU เป็นหน่วยนับจำนวนจำนวนจุลินทรีย์ที่เติบโตเป็นกลุ่มที่เรียกว่า โคโลนี บนจานเลี้ยงเชื้อ จากการนับด้วยตาเปล่า)
“ฝุ่น” อันตราย หรือแค่น่ารำคาญ
ฝุ่นละอองมีขนาดเล็กได้หลายขนาด ตั้งแต่ 0.002 ไมครอน ไปจนถึง 500 ไมครอน โดยฝุ่นที่ตาเปล่ามองเห็นจะมีขนาดตั้งแต่ 50 ไมครอนขึ้นไป ทั้งนี้ฝุ่นที่เราเคยได้ยินกันมี 2 ประเภทคือ ฝุ่นหยาบ ขนาด 10 ไมครอน (10PM) และ ฝุ่นละเอียด ขนาด 2.5 ไมครอน (2.5 PM) ซึ่งประเภทหลังนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างมาก เพราะสามารถทะลวงระบบป้องกันของร่างกายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้เลย อันสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดได้ในเมื่อมันอันตรายเสียขนาดนั้น เรามารู้จักที่มาของฝุ่นก่อน เพื่อการป้องกัน โดยฝุ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการธรรมชาติ จากการสลายตัวของดิน หิน ทราย เขม่าควันเป็นต้น นอกจากนี้ มนุษย์สามารถเพิ่มการสร้างฝุ่นเข้าสู่อากาศได้ จาก การก่อสร้าง การขนส่ง ไม่ว่าจะจากฝุ่นของขนส่งอย่างดินหินทรายแล้ว ควันเสียจากรถยนต์ต่างๆก็เพิ่มปริมาณฝุ่นเข้าสู่อากาศได้
อัตราปริมาณของฝุ่นหยาบ ได้รับการกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ฝุ่นละเอียดไม่ให้เกิน 35 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ปริมาณที่มากขึ้นของฝุ่น จึงมักจะเกิดจากสภาวะแวดล้อมโดยรอบของอาคาร อันจะเป็นตัวทำให้ฝุ่นเข้าสู่อากาศภายในอาคารได้ เช่น บริเวณที่ใกล้เคียงกับเขตก่อสร้าง เขตโรงงานอุตสาหกรรม และ เขตย่านกลางเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น หรือภายในอาคารที่มีการบูรณะซ่อมแซม ปรับปรุงพื้นที่ เป็นต้น
2. มลพิษจากสารเคมี และแร่ธาตุต่างๆ
แร่ใยหิน หรือ Asbestos เป็นแร่อนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้ตามดินและหิน ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรง และทนต่อความร้อนได้ดี จึงมักนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่นฉนวนกันความร้อน และสารหน่วงการติดไฟ, หลังคา ฝ้า และเพดาน รวมทั้งพื้นกระเบื้องยาง เป็นต้น ทั้งนี้แร่ใยหินจะเป็นอันตรายต่อคนได้ เมื่อมีการไปทำให้วัสดุที่มีแร่ใยหินนั้นฉีกขาด หรือได้รับความเสียหาย จึงเกิดการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินออกมา เช่น การรื้อถอน ซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ อย่างการเปลี่ยนฉนวนกันความร้อน หรือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฉนวนในท่อส่งลมเย็นต่างๆในอาคารใหญ่ ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินผ่านระบบปรับอากาศลงมาสู่พื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ด้านล่างได้ทั้งนี้ อันตรายของการสูดหายใจเอาแร่ใยหิน ที่เป็นละอองขนาดเล็กมากเข้าไป ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่าเป็นเหตุของการเกิดโรคทางปอด อย่างมะเร็งปอด และโรคทางปอดอื่นๆที่เรื้อรังได้สิ่งจำเป็นคือ เปลี่ยนประเภทของวัสดุที่ใช้จากแร่ใยหินเป็นวัสดุประเภทอื่น หากทำได้ หรือไม่ก็ต้องป้องกันการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินระหว่างการรื้อถอน รวมทั้งการเก็บเศษผง ฝุ่น และทำความสะอาดพื้นที่ภายหลังการซ่อมแซมให้เรียบร้อย เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีเศษผงของแร่ใยหินเหลืออยู่ อันจะเป็นอันตรายต่อคนที่อาศัยในพื้นที่นั้นได้
ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสารเคมีที่พบได้มากในการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง และ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว เครื่องเรือนที่ทำจากไม้อัด ผ้าอัดพลีท สีเคลือบเงา ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยอันตรายต่อคนคือการสูดดมสารระเหยฟอร์มัลดีไฮด์ อันจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เพราะฤทธิ์กัดกร่อน ที่เยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และถือเป็นสารก่อมะเร็งได้อีกประเภทเช่นกัน โดยความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์ถูกกำหนดไว้ไม่ควรเกิน 0.05 ส่วนในล้านส่วน (PPM) สำหรับพื้นที่ภายในบ้าน แสดงว่า แม้เพียงน้อยนิดก็เป็นอันตรายอย่างมากแก่สุขภาพในระยะยาวได้ โดยอาการเจ็บป่วยจากสารเคมีเหล่านี้ มักจะค่อยๆสะสมทีละเล็กละน้อยจนเราไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็เกิดโรคร้ายแรง เรื้อรังได้
สารอินทรีย์ระเหย (VOCs – volatile organic compounds) เป็นสารที่ถูกปล่อยออกมาในรูปก๊าซจากวัสดุที่เป็นทั้งของแข็งและของเหลว ซึ่งอาจจะเป็นสารเคมีอย่าง สีทาในบ้าน สารเคลือบเงา น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อจากเคมี เครื่องสำอาง น้ำหอม เสื้อผ้าที่ผ่านการซักแห้ง หรือเครื่องเรือนไม้ ที่มีการฉีดกันปลวกและแมลง รวมทั้งยาฆ่าแมลง เป็นต้นหากเป็นในสำนักงาน ก็มักพบได้ตาม อุปกรณ์สำนักงานอย่าง เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องปริ้นเตอร์ น้ำยาลบคำผิด ปากกาเคมี รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการใช้กาว และสีเป็นต้น
ทั้งนี้ อันตรายของการสูดดมเอาสารระเหยพวกนี้เข้าไป ในระยะเวลาต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ การระคายเคืองตามผิวหนัง ตา/จมูก/และลำคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง
อัตราที่กำหนดไว้ ในระดับที่ปลอดภัยต้องมี สารระเหยชนิดนี้โดยรวมในอากาศไม่ควรเกิน 0.009 – 3,000 ส่วนในล้านส่วน (PPM) สำหรับพื้นที่ในอาคารทั่วไป
3. มลพิษจากก๊าซอันตรายต่างๆ
ก๊าซเรดอน เป็นสารกัมมันตภาพรังสี ที่ไม่มีสีและกลิ่น เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติและแม้แต่ในอากาศทั่วไปที่เราหายใจอยู่ หากไม่มีปริมาณความเข้มข้นที่สูงเกินไป เพราะก๊าซเรดอนกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการเป็นมะเร็งปอดเลยทีเดียว โดยก๊าซนี้เกิดจากการสลายตัวของเรเดียม และระเหยขึ้นมาจากพื้นดิน และหิน ดังนั้นตามอาคารจะตรวจพบก๊าซนี้ได้ หากมีการระเหยจากใต้ดินของอาคารเข้าสู่ตามรอยรั่วของอาคารโอโซน หรือ O3 เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิด ว่าเป็นอากาศที่สะอาดและปลอดภัยต่อมนุษย์มาก จนเกิดมีคำพูดว่าไปสูดโอโซนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น โอโซนเป็นก๊าซสีฟ้าอ่อนที่เป็นพิษ โดยสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติหรือ จากมนุษย์สร้างขึ้น โดยสถาบันจากสหรัฐอเมริกาอย่าง EPA (U.S. Environmental Protection Agency) เคยกล่าวว่า “โอโซนนั้น ดีเมื่ออยู่สูง แย่เมื่ออยู่ใกล้” เพราะว่า หากโอโซนพบที่ชั้นบรรยากาศจะช่วยดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทจากพระอาทิตย์ แต่หากเราได้สูดดมเข้าไป แม้เพียงนิดเดียว แค่ 0.1 ในล้านส่วนก็สามารถรู้สึกได้ เพราะจะมีกลิ่นคล้ายๆคลอรีนทั้งนี้ อัตราของโอโซนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยอยู่คือ 0.075 – 0.070 ในล้านส่วน เท่านั้น นับว่าน้อยมาก ดังนั้นการได้กลิ่นก็แสดงว่าเราอยู่ในระดับที่อันตรายแล้ว แต่อันตรายจากการสูดดมโอโซนเข้าไปมีผลต่อการทำงานของปอด และระบบหายใจ เกิดอาการหอบหืด เจ็บหน้าอก ไอ รวมทั้ง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอดอักเสบได้
“โอโซนในบ้านและอาคารมากจากอะไรได้บ้าง”
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โอโซน สามารถเกิดได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่าง สารอินทรีย์ระเหย ที่มาจากสีทาบ้าน กาว เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น กับ ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงแดด และ มีความร้อนนอกจากนี้ โอโซนภายในบ้าน หรือ ที่ทำงานเกิดได้จาก เครื่องผลิตโอโซน ที่มีขายกันโดยทั่วไปเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในอากาศ หรือ จากเครื่องถ่ายเอกสาร รวมทั้งเครื่องปรินเตอร์
ปัจจุบันนี้ เรามีทางเลือกที่จะเลี่ยงการก่อให้เกิดโอโซนภายในบ้านและที่ทำงานได้ด้วย การเลือกซื้อรุ่นที่ปราศจากการก่อให้เกิดโอโซน เพื่อความปลอดภัยได้
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชนิดต่างๆในอุณหภูมิสูง เช่นการเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ในรถยนต์ เครื่องทำความร้อนหรือเครื่องทำน้ำอุ่นตามบ้านที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ควันจากการสูบบุหรี่ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่ง EPA และ ASHRAE จากสหรัฐอเมริกามีการกำหนดให้ปริมาณของก๊าซนี้สำหรับอากาศภายในอาคารไม่ควรเกิน 0.053 ส่วนจากล้านส่วน (PPM) โดยอันตรายจากการสูดดมในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ไอ หายใจติดขัด และภูมิต้านทานโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจลดลง จึงทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด หรือ โรคถุงลมโป่งพองได้
คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสิ่งที่เกิดจากตัวมนุษย์เองได้ เพราะทุกลมหายใจออก เราจะผลิตก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ออกมา ดังนั้น หากมีคนอยู่มากในห้องๆหนึ่ง ก็จะเกิดก๊าซนี้ขึ้นในปริมาณมาก และจะทำให้รู้สึกอึดอัดได้ โดยปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ไม่ให้เกินคือ 1,000-1,200 ในล้านส่วน (PPM) ที่จะทำให้เกิดอันตราย แต่หากความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศในอาคารขึ้นถึงแค่ 750 ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลาต่อเนื่องระยะหนึ่งจะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายแล้ว รวมทั้งเวียนศรีษะ ปวดศีรษะ รู้สึกระคายเคืองที่จมูกและคอ รู้สึกเปรี้ยวปาก ถ้ามีมากเกินไปสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยทำให้รู้สึกหายใจไม่ออก
คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของไม้ เชื้อเพลิง จึงพบได้ตามแหล่งที่มีการจราจรหนาแน่น ทำให้ก๊าซนี้มีอยู่ในปริมาณสูง โดยอัตราความเข้มข้นที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่ภายในอาคารต้องไม่เกิน 9 ส่วนในล้านส่วน (PPM) แต่หากอยู่ในบริเวณที่มีความเข้มข้นเกินเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้รู้สึก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย คลื่นไว้ มึนงง ปวดศรีษะ จนถึงภาวะสมองขาดออกซิเจน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ทั้งนี้ สำหรับภายในบ้าน หรือที่ทำงาน คาร์บอนมอนนอกไซด์ มักจะเกิดจากควันบุหรี่ รวมทั้งควันไอเสียจากรถยนต์ ที่ไหลเข้าสู่ภายในอาคาร ตามรอยรั่วของอาคาร และตามประตูทางเข้าออกจากอาคารสู่บริเวณที่จอดรถ
4. ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
การที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ภายในอาคารให้รู้สึกสบายนั้น มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผล ทั้งต่อความรู้สึกสบายกาย เช่นหายใจสะดวก สดชื่น ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการเกิดมลพิษอื่นๆได้ โดยปัจจัยเหล่านี้มีอุณหภูมิ ซึ่งห้องที่มีอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวเกินไป จะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่สบายได้ โดยอุณหภูมิที่กำหนดไว้กว้างๆจะอยู่ประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ระดับอุณหภูมิอาจจะเกิดจากความชอบส่วนบุคคลก็ได้ ตราบใดที่ไม่ทำให้รู้สึกไม่สบาย จนเกิดอาการป่วย เช่น ปวดศีรษะจากความร้อนมากเกินไป หรือ ป่วยเป็นหวัดจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป เป็นต้น
นอกจากนี้ ความร้อนเกินไป จะทำให้เกิดเหงื่อและกลิ่น ทำให้มีการขับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ออกจากตัวคนเราได้ อันจะเป็นการเพิ่มมลพิษทางอากาศอีกทางหนึ่ง
ความชื้น เป็นสาเหตุหลักของการเกิดเชื้อรา อันถือเป็นหนึ่งในมลพิษชีวภาพของอากาศในอาคารได้ โดยมักพบได้จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิห้องที่แตกต่างกันมากระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืน ที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศและช่วงที่ปิดเครื่องปรับอากาศ ทำให้เกิดความชื้นได้แต่ต้นเหตุหลักของความชื้น มักจะเป็นการทำความสะอาดพื้นที่ภายในบ้านและอาคารที่ไม่ทั่วถึงพอ เช่น ในห้องน้ำ ห้องครัว และ ห้องเครื่องแอร์ในอาคาร ที่เกิดน้ำขัง เป็นเวลาต่อเนื่องนาน หรือเป็นจุดที่มีน้ำรั่วซึมของท่อน้ำต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของการเกิดความชื้นและเชื้อราได้ทั้งนั้น
การถ่ายเทอากาศ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่งต่อการดูแลและจัดการมลพิษของอากาศในอาคาร เพราะ การถ่ายเทอากาศที่ดี จะทำให้มีการระบายมลพิษต่างๆออกไปได้ ลดความเข้มข้นของสารอันตรายต่างๆได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ระบบระบายอากาศ การหมุนเวียนของอากาศ ตลอดจนการถ่ายเทอากาศนั้น มักจะถูกวางแผนไว้ตั้งแต่การสร้างบ้าน หรืออาคาร ซึ่งหากไม่ได้รับการออกแบบและวางแผนไว้อย่างดี ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทิศทางลมภายนอก ก็จะมีผลทำให้อากาศภายในอาคารนั้นยากต่อการจัดการให้มีคุณภาพที่ดีได้การถ่ายเทที่ดี จะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย และส่วนใหญ่การเปิดให้ห้องภายในบ้านและอาคารได้มีอากาศจากภายนอกเข้ามาบ้าง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนของอากาศภายในที่ถูกหมุนเวียนใช้มานาน ยกเว้นแต่อากาศภายนอกนั้นเต็มไปด้วยมลพิษซึ่งการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดน่าจะเป็นการจัดการที่ดีกว่า
กลิ่น เป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจ และความสบายในการอยู่ในพื้นที่นั้นโดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลิ่นจากสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือกลิ่นขยะของเสียเน่าเหม็น ก็เป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญ สำหรับพื้นที่ภายในบ้านนั้น จุดเฝ้าระวังคือ ถังขยะ ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้เน่าเหม็น ซึ่งการเน่าเหม็นก็เกิดการกระบวนการย่อยสลายทางธรรมชาติด้วยฝีมือของจุลินทรีย์ ที่เข้าไปกินขยะเหล่านั้น ซึ่งกลิ่นเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้นการมีกลิ่นเหม็นเน่า ย่อมมีเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นมลพิษในอากาศประเภทหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
อันที่จริงแล้ว “กลิ่น” ถือเป็นจุดบอกเหตุของมลพิษของอากาศในอาคารอย่างง่ายที่สุด เพราะส่งผลทั้งด้านความปลอดภัยและความสบายในการใช้ชีวิตในพื้นที่นั้นๆ กลิ่นที่มักมีปัญหามี
- กลิ่นอับชื้น เกิดจากความชื้น ปัญหาการถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ มีเชื้อโรคเชื้อราได้
- กลิ่นเน่าเหม็น เกิดจากสิ่งสกปรกอาหาร สัตว์ตาย สิ่งปฏิกูลต่างๆ มีเชื้อโรคเชื้อราได้
- กลิ่นสารเคมี เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่มีส่วนประกอบของสารเคมีระเหย ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบสมองได้
- กลิ่นเหงื่อ เกิดจากมนุษย์เอง เมื่อมีอากาศร้อนเกินไป หรือเมื่อเกิดการเผาผลาญพลังงานผ่านการออกกำลังกาย ซึ่งกลิ่นเหงื่อจะเกิดจากการที่เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปย่อยสลายเหงื่อนั่นเอง ดังนั้น กลิ่นเหงื่อสามารถติดตามใยเสื้อผ้า ทำให้เกิดกลิ่นหมักหมม รำคาญใจ เสียบุคคลิก
- กลิ่นสัตว์เลี้ยง เกิดจากสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ เช่นตามจุดที่สัตว์เลี้ยงมักจะใช้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะเป็นต้น หรือจะเป็นเศษขน เศษผิวหนังหรืออื่นๆ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นสะสม ติดแน่นในสถานที่นั้นๆได้ อันจะเป็นแหล่งเกิดเชื้อโรคเชื้อราได้เช่นกัน
- กลิ่นอาหาร เกิดจากกระบวนการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเผาไหม้จากเตา กลิ่นอาหารสด อาหารสุก ถ้าไม่ได้รับการดูแลก็จะเกิดความหมักหมมของกลิ่น ได้อีกเช่นกัน